วันตรุษจีน นับว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของจีน ถือได้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ.2020 นี้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2563 เป็นเทศกาลที่มีความคล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ในบ้านเรา โดยชาวจีนทุกคนจะให้ความสำคัญกับวันตรุษจีนนี้เป็นอย่างมาก มีการหยุดงานต่อเนื่องหลายวัน โรงเรียน ตลอดจนสถาบันการศึกษาปิดภาคเรียน (ปิดภาคเรียนฤดูหนาว) ในช่วงนี้ เหลือแค่เพียงบางอาชีพ บางประเภทงานเท่านั้นที่อาจต้องทำหน้าที่พิเศษจึงไม่สามารถหยุดงานได้ โดยเฉลี่ยจะหยุดกันประมาณ 3 – 4 วัน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมข้าวของสำหรับจัดงานปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

เมื่อวันตรุษจีนเดินทางมาถึง ทุกๆ ครอบครัวก็จะทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อให้เป็นการก้าวผ่านปีใหม่ไปได้อย่างสะอาด สดใส ภายในร้านรวงต่างๆ ตลอดจนห้างสรรพสินค้าต่างเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ ซื้อของขวัญให้กับญาติสนิทมิตรสหาย ซื้อบัตรอวยพรในโอกาสมงคล ส่วนในตลาดก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาซื้อของไหว้ตรุษจีน ซื้อปลาบ้าง ซื้อเนื้อสัตว์บ้าง ซื้อเป็ดไก่บ้าง ซึ่งทุกคนนั้นต่างก็ดูแจ่มใส เต็มไปด้วยความสุขในช่วงใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ เด็กๆ ล้วนมีความสุขที่ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ ชุดใหม่ๆ ได้ทานลูกกวาด ขนมหวาน เล่นพลุ เล่นประทัดกันอย่างสนุกสนาน รื่นเริง นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ครึกที่สุดของประเทศจีน รวมถึงชุมชนชาวจีน อย่าง เยาวราช บ้านเราก็คึกคักไม่แพ้กัน

ว่ากันว่า 1 คืนก่อนวันปีใหม่จีนจะเป็นวันสุดท้ายของปีที่ในช่วงคืนนั้นจะคึกครื้นมากที่สุด ใครที่ไปทำงานห่างจากบ้านเกิดก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะเดินทางกลับมาฉลองวันปีใหม่ที่บ้าน เมื่อถึงช่วงมื้อค่ำในคืนก่อนวันปีใหม่จีน ทุกคนในครอบครัวจะมานั่งรวมกันอย่างพร้อมหน้าล้อมโต๊อาหาร หยิบแก้วชนเฉลิมฉลองและอวยพรปีใหม่กัน เวลานี้เป็นเวลาที่ทุกบ้านจะเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ชาวจีนที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศก็จะเริ่มทำเกี๊ยว (เจี้ยวจึ) ส่วนชาวจีนที่อยู่ทางตอนใต้ ก็จะปั้นลูกอี๋และทำน้ำเชื่อม ทำไป ชิมไป ทานไปอย่างสนุกครึกครื้น เมื่อแสงแรกของเช้าวันใหม่ในวันแรกของปีมาถึง ทุกคนจะตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อออกไปเยี่ยมบ้านเพื่อนฝูงและอวยพรปีใหม่ซึ่งกันและกัน

ประวัติวันตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีน มีความคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศแถบตะวันตก เรื่องราวที่ยาวนาน ร่องรอยประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวกับการฉลองตรุษจีนนั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จนไม่สามารถกลับไปย้อนที่จุดตั้งต้นได้ว่าชาวจีนเริ่มฉลองในวันปีใหม่ของพวกเขาครั้งแรกเมื่อไหร่ โดยที่ตรุษจีนนั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี อาจเรียกทั่วไปได้ว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูไมใบไม้ผลิ ที่มีระยะเวลาแห่งการเฉลิมฉลองยาวนานกว่า 15 วัน การเตรียมงานเพื่อเฉลิมฉลองในวันตรุษจีนนี้จะเริ่มขึ้น 1 เดือนก่อนถึงวัน (เช่นเดียวกับวันคริสต์มาสของประเทศในแถบตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มหาซื้อของขวัญและของประดับตกแต่งบ้านเรือน รวมถึงอาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกปัดกวาด ทำความสะอาดตั้งแต่ชั้นบนลงมาถึงชั้นล่าง หน้าบ้านจนถึงหลังบ้าน นั่นหมายถึง การปัดกวาดเอาโชคร้ายทั้งหลายออกไป ประตู หน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณ หรือทาสีใหม่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นสีแดงที่เป็นสีมงคลที่ชาวจีนนิยมกัน อีกทั้งประตู หน้าต่างจะถูกประดับประดาไปด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร อย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เป็นต้น

อาหารวันตรุษจีน ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นล้วนถูกผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้าที่เป็นของไหว้ตรุษจีน ซึ่งอาหารค่ำในช่วงก่อนถึงวันตรุษจีนนั้นจะประกอบไปด้วยอาหารทะเลและอาหารนึ่ง อาทิ ขนมจีบ โดยอาหารแต่ละอย่างก็จะมีความหมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • กุ้ง หมายถึง ชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข
  • หอยเป๋าฮื้อแห้ง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี
  • สลัดปลาสด หมายถึง การนำมาซึ่งความโชคดี
  • จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่ายที่ดูคล้ายผม แต่กินได้ หมายถึง การนำความร่ำรวยมาให้
  • ขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึง คำอวยพรของบรรพชน

เสื้อผ้าวันตรุษจีน การใส่เสื้อผ้าที่มีสีแดง นับว่าเป็นสีที่เป็นมงคล เป็นการขับไล่ปีศาจร้ายให้ออกไปจากร่างกาย ชีวิต การใส่สีดำ หรือสีขาว ถือว่าเป็นสีต้องห้าม เป็นสีแห่งการไว้ทุกข์

กิจกรรมก่อนเข้าสู่วันตรุษจีน หลังจากมื้ออาหารค่ำในคืนก่อนวันปีใหม่ ทุกคนในครอบครัวจะนั่งรอกันจนถึงเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน อีกทั้งในวันนี้จะต้องไม่มีอารมณ์โกรธ ริษยา หรือไม่พอใจ นั่นก็เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง

ของไหว้ตรุษจีน

ในวันที่มีการฉลองตรุษจีนนั้นจะมีการรับประทานอาหารมากกว่าวันอื่นๆ ในปี อาหารที่เป็นของไหว้ตรุษจีนต่างๆ ที่มีอยู่ในประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา จะถูกตระเตรียมไว้เพื่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูง รวมไปถึงบรรพบุรุษและญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ส่วนใหญ่ในวันตรุษชาวจีนจะนิยมรับประทานผักที่เรียกว่า ไช่ รวมไปถึงผักประเภทอื่นๆ นำมาปรุงเป็นอาหาร ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ราก หรือผักที่มีลักษณะคล้ายเส้นใย ชาวจีนหลายคนก็ยังเชื่อว่าผักต่างๆ ล้วนมีความหมายที่เป็นมงคลในตัวของมันเอง ลองดูได้จากอาหารเหล่านี้

  • เม็ดบัว หมายถึง การมีลูก หลานที่เป็นผู้ชาย
  • เกาลัด หมายถึง เงิน ทรัพย์สมบัติ
  • สาหร่ายดำ หมายถึง ความร่ำรวย
  • เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง หมายถึง การเต็มไปด้วยความร่ำรวยและความสุข
  • หน่อไม้ หมายถึง คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข
  • ปลาทั้งตัว หมายถึง ตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกันและความอุดมสมบูรณ์
  • ไก่ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า โดยไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หาง และเท้าอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์
  • เส้นหมี่ หมายถึง ชีวิตที่ยืนยาว ไม่นิยมตัดเมื่อนำมาปรุงเป็นอาหาร

หมายเหตุ

  • เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้ เนื่องจากสีขาว เป็นสีแห่งความโชคร้ายสำหรับปีใหม่ หมายถึงการไว้ทุกข์ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนที่มีมาถึงปัจจุบัน
  • ทางตอนใต้ของจีน อาหารที่นิยมและรับประทานกันมากที่สุด ได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวานที่ถือว่าเป็นอาหารอันโอชะ ส่วนทางเหนือ ได้แก่ หมั่นโถวและติ่มซำ
  • อาหารจำนวนมากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง: ของไหว้ตรุษจีน การไหว้บรรพบุรุษ

วันตรุษจีนในประเทศไทย

ชาวไทยเชื้อสายจีนในบ้านเราจะถือประเพณีปฏิบัติในวันตรุษจีนอยู่ 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

วันจ่าย

วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปีก่อนถึงตรุษจีน เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องออกไปจับจ่าย ซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าเหล่านั้นจะปิดร้านเพื่อหยุดพักผ่อนยาว รวมถึงไม่จำเป็นต้องจุดธูปเพื่ออัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู้เอี๊ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันก่อน เพราะเจ้าไม่ได้เดินทางไปที่ไหนเมื่อ 4 วันที่แล้ว

วันไหว้

ตอนเช้ามืด จะเริ่มพิธีการไหว้ ป้ายเล่าเอี๊ย โดยเป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด และไก่ อาจะเพิ่มตับ และปลาก็จะเป็นเนื้อสัตว์ห้า อย่าง ร่วมกับเหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

ตอนสาย จะทำพิธีการไหว้ ป้ายแป๋บ้อ เป็นการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเป็นการแสดงความกตัญญูตามความเชื่อและคติของจีน ซึ่งในการไหว้ครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกินเที่ยง มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนใหญ่จะทำตามสิ่งที่ผู้ล่วงรับชอบรับประทาน) รวมทั้งมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่อเป็นการอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ จากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเพื่อความเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาครอบครัว หรือวงศ์ตระกูลที่จะรวมตัวกันได้มากที่สุด ปิดท้ายด้วยการแลกอั่งเปาหลังจากที่ได้รับประทานอาหารร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตอนบ่าย จะทำพิธีการไหว้ ป้ายฮ่อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องประกอบการไหว้จะเป็นจำพวก ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล

วันเที่ยว

วันเที่ยว หรือวันถือ นั่นก็คือ วันขึ้นปีใหม่ โดยเป็นวันที่หนึ่ง เดือนที่หนึ่งของปี ในวันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ ป้ายเจีย เป็นพิธีการไหว้ขอพรและรับคำอวยพรจากผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ที่เราเคารพรัก มีการนำส้มสีทองไปมอบให้ เพราะ ส้ม ในภาษาแต้จิ๋ว คือ กิก ที่ไปพ้องกับคำว่า ความสุข หรือโชคลาภ อีกทั้งคำว่า ส้ม ในภาษากวางตุ้ง เรียกว่า ก้าม ที่ไปพ้องกับคำว่า ทอง ฉะนั้นการให้ส้มก็เหมือนกับการนำความสุข หรือโชคลาภไปให้ โดยจะมีการมอบส้มจำนวน 4 ผลที่ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าผู้ชาย รวมถึงการที่เรียกวันนี้ว่าเป็นวันถือนั้น ก็เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นวันที่มีสิริมงคล ให้งดทำบาป ซึ่งจะมีการถือคติบางอย่างที่สำคัญ อาทิ งดการพูดจาที่ไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน

ข้อมูลเพิ่มเติม Wikipedia.org